และแล้ว TOT กับ CAT ก็ตกลงแต่งงานกันได้เสียที

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทั้ง TOT และ CAT ควบรวมกิจการภายใต้บริษัทที่ชื่อ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT” โดยให้กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และมีกำลังการดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากนี้ และให้ยกเลิกการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC)

ในอดีตเมื่อนึกถึงหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสาร คงต้องนึกถึง “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ท.ศ.ท.)” ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ภายในประเทศ จนกระทั่งเมื่อการสื่อสารมีการพัฒนาขึ้นมากไม่ได้จำกัดแค่การใช้งานโทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้น องค์การสื่อสารจึงจำเป็นต้องแปรรูปเพื่อให้สามารถแข่งกับภาคเอกชนได้

โดยการแปรรูปครั้งนั้นส่งผลให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกลายสภาพเป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งในภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขณะที่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ที่ดูแลเรื่องการสื่อสารระหว่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการแปรรูปจนกลาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom ในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงานมีความทับซ้อนส่งผลให้เกิดสถานการณ์กินกันเอง (Canibalize) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้ง 2 หน่วยงาน จนมีการมองถึงการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่ง และจะช่วยให้ทั้งคู่กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ

ล่าสุด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยให้ทั้ง 2 ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน ภายใต้ชื่อใหม่ว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ National Telecom (NT)

ผลจากมติการควบรวมกิจการครั้งนี้ ทำให้ ครม.ยกเลิกการตัดตั้ง บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) โดยให้พนักงานเดิมที่ถูกโอนย้ายหรือลาออกมาจากทั้ง TOT และ CAT เพื่อไปดูแลทั้ง NBN และ NGDC กลับเข้าไปทำงานใน TOT และ CAT ตามตำแหน่งเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง

รวมไปถึงยังมีมติให้ TOT และ CAT สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700MHz, 1800MHz, 2600MHz และ 26GHz (26,000MHz) ตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เป็นไปได้ว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการให้บริการด้านโทรคมนาคมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ MVNO ที่ยังเหลืออยู่ รวมไปถึงบริการการสื่อสารภายใต้แบรนด์ My by CAT จับตากันต่อไปว่า เมื่อควบรวมแล้วบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมานี้จะมีสินทรัพย์และรายได้รวมทั้ง 2 บริษัทอยู่ที่เท่าไหร่ และหนี้สินรวมของทั้ง 2 บริษัทอยู่ที่เท่าไหร่

คุยกับแอดมินร้าน